วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รูปแบบของวงดนตรีในประเทศไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงมังคละเภรี


รูปแบบของวงดนตรีในประเทศไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงมังคละเภรี
              ดนตรีพื้นบ้านเป็นเสียงดนตรีที่ถ่ายทอดกันมาด้วยวาจาซึ่งเรียนรู้ผ่านการฟังมากกว่าการอ่าน และเป็นสิ่งที่พูดต่อกันมาแบบปากต่อปากโดยไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรจึงเป็นลักษณะการสืบทอด ทางวัฒนธรรมของชาวบ้านตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นกิจกรรมการดนตรีเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด จากการทำงานและช่วยสร้างสรรค์ความรื่นเริงบันเทิงเป็น
หมู่คณะและชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นซึ่งจะทำให้เกิด ความรักสามัคคีกันในท้องถิ่นและปฏิบัติสืบทอดต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางพื้นบ้านของท้องถิ่นนั้น ๆ สืบต่อไป
 
ดนตรีพื้นบ้านของไทยนั้น สามารถแบ่งออกตามภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยได้ดังนี้
ดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภท ดีด สี ตี เป่า โดยเครื่องดีดได้แก่ จะเข้และจ้องหน่อง เครื่องสีได้แก่ ซอด้วงและซออู้ เครื่องตีได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดทอง ระนาดทุ้มเล็ก ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบและกรับ เครื่องเป่าได้แก่ ขลุ่ยและปี่ ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง คือ วงปี่พาทย์ของภาคกลางจะมีการพัฒนาในลักษณะผสมผสานกับดนตรีหลวง โดยมี
การพัฒนาจากดนตรีปี่และกลองเป็นหลักมาเป็นระนาดและฆ้องวงพร้อมทั้งเพิ่มเครื่องดนตรี มากขึ้นจนเป็นวงดนตรีที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีการขับร้องที่คล้ายคลึงกับปี่พาทย์ของหลวง ซึ่งเป็นผลมาจากการถ่ายโยงทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมราษฎร์และหลวง
ดนตรีพื้นเมืองบ้านภาคเหนือ ในยุคแรกจะเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ได้แก่ ท่อนไม้กลวง
ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ในเรื่องภูตผีปีศาจและเจ้าป่า เจ้าเขา จากนั้น ได้มีการพัฒนาโดยนำหนังสัตว์มาขึงที่ปากท่อนไม้กลวงไว้กลายเป็นเครื่องดนตรีที่เรียนกว่ากลอง ต่อมามีการพัฒนารูปแบบของกลองให้แตกต่างออกไป เช่น กลองที่ขึงปิดด้วยหนังสัตว์เพียงหน้าเดียว ได้แก่ กลองรำมะนา กลองยาว กลองแอว และกลองที่ขึงด้วยหนังสัตว์ทั้งสองหน้า ได้แก่ กลองมองเซิง กลองสองหน้า และตะโพนมอญ นอกจากนี้ยังมีเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่ ขลุ่ย ย่ะเอ้ ปี่แน ปี่มอญ ปีสรไน และเครื่องสี ได้แก่ สะล้อลูก
5 สะล้อลูก 4 และ สะล้อ 3 สาย และเครื่องดีด ได้แก่ พิณเปี๊ยะ และซึง 3 ขนาด คือ ซึงน้อย ซึงกลาง และซึงใหญ่ สำหรับลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ คือ มีการนำเครื่องดนตรีประเภท ดีด สี ตี เป่า มาผสมวงกันให้มีความสมบูรณ์และไพเราะ โดยเฉพาะในด้านสำเนียงและทำนองที่พลิ้วไหวตามบรรยากาศ ความนุ่มนวลอ่อนละมุนของธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการผสมทางวัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ และยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในราชสำนักทำให้เกิดการถ่ายโยง และการบรรเลงดนตรีได้ทั้งในแบบราชสำนักของคุ้มและวัง และแบบพื้นบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
 ดนตรีพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีวิวัฒนาการมายาวนานนับพันปี เริ่มจากในระยะต้น มีการใช้วัสดุท้องถิ่นมาทำเลียนสียงจากธรรมชาติ ป่าเขา เสียงลมพัดใบไม้ไหว เสียงน้ำตก เสียงฝนตก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสียงสั้นไม่ก้อง ในระยะต่อมาได้ใช้วัสดุพื้นเมืองจากธรรมชาติมาเป่า เช่น ใบไม้ ผิวไม้ ต้นหญ้าปล้องไม้ไผ่ ทำให้เสียงมีความพลิ้วยาวขึ้น จนในระยะที่ 3 ได้นำหนังสัตว์และเครื่องหนังมาใช้เป็นวัสดุสร้างเครื่องดนตรีที่มีความไพเราะและรูปร่างสวยงามขึ้น เช่น กรับ เกราะ ระนาด ฆ้อง กลอง โปง โหวด ปี พิณ โปงลาง แคน เป็นต้น โดยนำมาผสมผสานเป็นวงดนตรีพื้นบ้านภาคอีสานที่มีลักษณะเฉพาะตามพื้นที่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอีสานเหนือ และอีสานกลางจะนิยมดนตรีหมอลำที่มีการเป่าแคนและดีดพิณประสานเสียงร่วมกับการขับร้อง ส่วนกลุ่มอีสานใต้จะนิยมดนตรีกันตรึมซึ่งเป็นดนตรีบรรเลงที่ไพเราะของชาวอีสานใต้ที่มีเชื้อสายเขมร นอกจากนี้ยังมีวงพิณพาทย์และวงมโหรีด้วยชาวบ้านแต่ละกลุ่มก็จะบรรเลงดนตรีเหล่านี้กันเพื่อ ความสนุกสนานครื้นเครง ใช้ประกอบการละเล่น การแสดง และพิธีกรรมต่าง ๆเช่น ลำผีฟ้า ที่ใช้แคนเป่าในการรักษาโรค และงามศพแบบอีสานที่ใช้วงตุ้มโมงบรรเลง นับเป็นลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านอีสานที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ
 ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ มีลักษณะเรียบง่าย มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากวัสดุใกล้ตัวซึ่งสันนิษฐานว่าดรตรีพื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้น่า จะมาจากพวกเงาะซาไก ที่ใช้ไม่ไผ่ลำขนาด ต่าง ๆ กันตัดออกมาเป็นท่อนสั้นบ้างยาวบ้าง แลัวตัดปากกของกระบอกไม้ไผ่ให้ตรงหรือเฉียงพร้อมกับ
หุ้มด้วยใบไม้หรือกาบของต้นพืช ใช้ตีประกอบการขับร้องและเต้นรำ จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเป็นเครื่องดนตรีแตร กรับ กลองชนิดต่าง ๆ เช่น รำมะนา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวมลายู กลองชาตรีหรือกลองตุ๊กที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมโนรา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ตลอดจนเครื่องเป่าเช่น ปี่นอกและเครื่องสี เช่น ซอด้วง ซออู้ รวมทั้งความเจริญทางศิลปะการแสดงและดนตรีของเมืองนครศรีธรรมราช จนได้ชื่อว่าละคอน ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางนอกจากนี้ยังมีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ประกอบการละเล่นแสดงต่างๆ เช่น ดนตรีโนรา ดนตรีหนังตะลุง ที่มีเครื่องดนตรีหลักคือ กลอง โหม่ง ฉิ่ง และเครื่องดนตรีประกอบผสมอื่น ๆ ดนตรีลิเกป่าที่ใช้เครื่องดนตรีรำมะนา โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปี่ และดนตรีรองเง็ง ที่ได้รับแบบอย่างมาจาก
การเต้นรำของชาวสเปนหรือโปรตุเกสมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีการบรรเลงดนตรีที่ประกอบด้วย ไวโอลิน รำมะนา ฆ้อง หรือบางคณะก็เพิ่มกีต้าร์เข้าไปด้วย ซึ่งดนตรีรองเง็งนี้เป็นที่นิยมในหมู่
ชาวไทยมุสลิมตามจังหวัดชายแดน ไทย- มาเลเซีย ดังนั้นลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้จะได้รับอิทธิพลมาจากดินแดนใกล้เคียงหลายเชื้อชาติ จนเกิดการผสมผสานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
ที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเน้นจังหวะและลีลาที่เร่งเร้า หนักแน่น และคึกคัก
เป็นต้น
รูปแบบของวงมังคละเภรีหรือที่เรียกกันว่า วงปี่กลอง นั้นเป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีประกอบ ด้วย กลอง 4 ใบ และปี่ 1 เลา ซึ่งในประเทศไทย มีวงดนตรีที่มีลักษณะและรูปแบบของวงดนตรีที่คล้ายคลึงกับวงมังคละเภรีปรากฏ ได้แก่

2.4.1 วงบัวลอย
          วงบัวลอย หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันว่าวงปี่ชวากลองแขก คำว่าบัวลอย เป็นชื่อของ
การบรรเลงดนตรีลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วย ปี่ชวา กลองแขก และฆ้องเหม่ง (ลักษณะเหมือนฆ้องโหม่ง แต่ขนาดเล็กกว่า ใช้ไม้ตีที่แข็งกว่า และนิยมใช้มือหิ้วตีในขณะบรรเลง)
วงบัวลอยมักจะใช้บรรเลงในงานอวมงคล เช่น งานศพ แต่เดิมวงบัวลอยประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่เรียกกันว่า
กลองสี่ปี่หนึ่งซึ่งประกอบด้วย กลองแขก 4 ลูก และปี่ชวา 1 เลา แต่ภายหลังได้
ลดจำนวนกลองเหลือ
2 ลูก สำหรับกลองที่เรียกว่ากลองแขก มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่มีสายโยง
ทำด้วยหวาย เรียกว่ากลองแขกซึ่งใช้ในการมงคลต่างๆ อีกชนิดหนึ่งได้แก่
ชนิดที่สายโยงทำด้วยหนังเรียกว่ากลองมาลายูใช้แต่เฉพาะในงานอวมงคลต่างๆ
(http://x. thaikids.com:ออนไลน์.10 มกราคม 2553) การผสมวงปี่พาทย์กลองแขก การผสมวงประเภทนี้มี 2 ชนิด คือ เครื่องที่ใช้กลองมลายู และเครื่องที่ใช้กลองแขก การผสมวงเครื่องกลองมลายู เดิมใช้ปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 4 ลูก และฆ้องเหม่ง 1 ใบ เครื่องกลองมลายูนี้แต่เดิมใช้ในกระบวน
พยุหยาตราและกระบวนแห่ต่างๆ ต่อมามีการนำไปใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพและพระศพเจ้านาย เมื่อใช้ในกระบวนแห่พระศพดังกล่าวจึงมีการนำไปใช้เป็นเครื่องประโคมศพโดยทั่วไปด้วย ต่อมามีการลดจำนวนกลองมลายูลงเหลือเพียง
2 ลูก การผสมวงเครื่องกลองแขก ประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา ผสมกับกลองแขก 1 คู่ และฆ้องโหม่ง 1 ใบ แต่ปัจจุบันมักใช้ฉิ่งแทนฆ้องโหม่งเป็นส่วนมาก
เครื่องกลองแขกนี้เดิมจะใช้ประกอบการฟ้อนรำอย่างแขก เช่น รำกริช เป็นต้น ต่อมามีการนำมาใช้กับรำกระบี่กระบอง จนกระทั่งถึงการชกมวยอย่างที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ นอกจากใช้ประกอบการฟ้อนรำแล้ว ภายหลังยังมีการใช้เครื่องกลองแขกประกอบในกระบวนแห่ด้วย เช่น กระบวนแห่โสกันต์
เป็นต้น


2.4.2 วงปี่พาทย์เครื่องห้า
                       วงปี่พาทย์เครื่องห้าสามารถแบ่งออกเป็นเครื่องอย่างเบาและอย่างหนัก เครื่องอย่างเบานั้นใช้สำหรับบรรเลงประกอบการเล่นโนห์ราชาตรีเท่านั้น เรียกว่าวงปี่พาทย์ชาตรี ในสมัย
กรุงศรีอยุธยาเรียก  ปี่พาทย์เครื่องห้าชนิดเบา
เพราะมีน้ำหนักเบาใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี ต่อมาจึงเรียกชื่อตามละคร เครื่องดนตรี  ประกอบด้วยปี่นอก 1 เลา ทับ (โทนไม้) 2 ใบกลองชาตรี 1 ใบ ฆ้องคู่ 1 ชุด และฉิ่ง 1 คู่ สำหรับทับบางครั้งใช้เพียงใบเดียว แต่เดิมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนักสำหรับบรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร และหนังใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
วงปี่พาทย์เครื่องห้าดังกล่าวนี้ประกอบด้วย ปี่ 1 เลา ระนาดเอก 1 ราง ฆ้องวงใหญ่ 1 วง ตะโพน 1 ใบ และกลองทัด 1 ลูก


2.4.3 วงตุ๊บเก่ง
          ตุ๊บเก่ง เป็นชื่อของวงดนตรีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงดนตรีกาหลอ
ในภาคใต้ วงตุ๊บเก่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของชาวเพชรบูรณ์ ใช้บรรเลงในงานศพของชาวบ้านสะเดียงในเขตอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง  เป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ประเภท
เครื่องดนตรี
 เพลงที่บรรเลงจะเป็นเพลงบรรเลงเล่นในงานศพ งานเทศกาลสงกรานต์
งานอุ้มพระดำน้ำ แต่ละวงจะมีผู้เล่นห้าคน เครื่องดนตรีประกอบด้วย ฆ้องกระแต หนึ่งใบ ฆ้องโหม่งสองใบ กลองสองหน้า สองใบ ปี่แต้ สองเลา
  เพลงที่เล่น มีประมาณ 32 เพลง แต่ที่นิยมมีเพียง 8 - 9 เพลง คือ เพลงสาธุการ เพลงสามใบหยัก เพลงปลงศพ เพลงเดินหน เพลงแก้วน้อยดับไฟ
เพลงตะเข้ลากหาง เพลงนางช้อง และเพลงแกะชนกัน
2.4.4 วงตึ่งนง
                       วงตึ่งนง หรือตึ่งโนง เป็นชื่อของวงดนตรีของภาคเหนือ ตึ่งนง เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องเป่าและเครื่องตี เครื่องเป่าได้แก่ “แน” มี 2 เลา คือ แนหน้อยและแนหลวง เครื่องตีได้แก่ ฆ้องขนาดใหญ่ (เรียก-ก๊องอุ้ย) ฆ้องขนาดกลาง (เรียก-ก๊องโหย้ง) ฉาบใหญ่ (เรียก-สว่า) กลองขนาดเล็กหุ้มสองหน้าที่เรียกว่า “กลองตะหลดปด” และกลองแอว ชื่อของวงตึ่งนงนั้นสันนิษฐานว่าได้มาจากเสียงกลองแอวที่มีเสียง “ตึ่ง” รับกับเสียงฆ้องที่มีเสียง “นง” ใช้สำหรับประโคมในงานบุญต่างๆของวัด ขบวนแห่ครัวทาน แห่ต้อนรับหัววัด เมื่อมีงานฉลองศาสนสถานของวัดที่เรียกว่าปอยหลวงแห่ประกอบการฟ้อนเล็บ และแห่เป็นมหรสพฉลองงานที่เรียกว่าอุ่นงันเป็นต้น วงตึ่งโนง มีลักษณะเด่นอยู่ที่กลองแอว ซึ่งเป็นกลองขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคอด เป็นกลองที่มีเสียงก้องกังวาน สามารถสะกดคนฟังได้ทุกครั้งที่มีบรรเลง
2.4.5 วงตุ้มโมง
          ตุ้มโมง คือชื่อของวงดนตรีประโคมศพของคนไทยเชื้อสายเขมรในประเทศไทย หรือชื่อ ตุมมิง, ตมมอง ซึ่งเป็นดนตรีประโคมศพของชาวเขมรในภาคตะวันตก-ตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา  มีองค์ประกอบของเสียงดนตรีอย่างน้อย 3 ชนิด คือ กลองขนาดใหญ่ (กลองเพลหรือกลองทัด เขมรเรียก “สกอร์ธม”), ฆ้องหุ่ยขนาดใหญ่ และปี่ (เขมรฝั่งไทยใช้ปี่ขนาดเล็กที่เรียก “ปี่เน” หรือ “ปี่ไฉน” บางทีก็เป็น “ปี่อ้อ”, เขมรใช้ปี่เล็ก เรียก “สราไลโต๊ช”) หัวใจสำคัญของวงตุ้มโมงคือเสียงฆ้อง ที่จะตีเสียงดังกังวานทั้งวันทั้งคืนเพื่อส่งวิญญานคนตาย ส่วนกลองจะตีแทรกเป็นระยะ และปี่เป่าทำนองเพลงโศกเป็นบางเวลา เพลงที่ถือว่าเป็นเสียงประจำ เช่น แซรกยม    โต๊ะยม เป็นต้น ตุ้มโมงเป็นดนตรีพื้นบ้านที่ใช้บรรเลงประโคมในงานศพเท่านั้น และจะเล่นแต่ในเวลากลางคืน เครื่องดนตรีของวงตุ้มโมงประกอบด้วย
            1. ฆ้องโหม่ง 1 ใบ (เป็นเครื่องดนตรีหลัก) โดยถือว่าเสียงของฆ้องโหม่งเป็นเสียงแห่งความเศร้าโศกและความอัปมงคล
2. กลองเพลขนาดใหญ่ 1 ใบ
3. ปี่ไฉน (หรือปี่ไนในสำเนียงเขมร) แต่บางทีก็ใช้ปี่อ้อแทน
4. ฆ้องราว (จำนวน 9 ใบ)
เหตุที่เรียกว่า ตุ้มโมง หรือ ตี๊มูง ก็เพราะเสียงที่ดังที่สุดและดังไปไกลในเวลากลางคืนที่เงียบสงัดนั้นจะได้ยินเสียงดัง ตุ้ม หรือ ทุ่ม อีกสักพักหนึ่งก็จะได้ยินเสียง โหม่ง หรือ โมง ของฆ้องโหม่ง
ดังตามมา สลับกันไปเช่นนี้ตลอดทั้งคืน
2.4.6 วงกาหลอ
           ดนตรีกาหลอมิได้เกิดขึ้นจากสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวใต้ แต่เป็น
วงดนตรีของชาวอินเดียที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่ก่อนพุธศตวรรษที่
13 โดยชาวมลายูใช้ดนตรีกาหลอเป็นเครื่องดนตรีประโคมในงานศพ เพื่อให้วิญญาณผู้ตายเป็นเครื่องสักการะแก่
พระอิศวรหรือพระกาล เหตุผลที่มีความเชื่อเช่นนี้ เพราะวงดนตรีกาหลอมีความผูกพันกับระบบ
ความเชื่อและพิธีกรรม ซึ่งตรงกับวิถีทางของศาสนาพราหมณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งพิธีกรรม

 (ภัทรวรรณ  จันทร์ธิราช.2539 : 7) ลักษณะของวงกาหลอประกอบด้วยปี่กาหลอ หรือปี่อ้อ ทน(กลอง)และ ฆ้อง ลักษณะของวงเช่นนี้ ปรากฏในสังคมไทยในแต่ละภูมิภาค ภาคเหนือ เช่น วงตึ่งนง วงมังคละภาคกลาง เช่น วงกลองแขก วงบัวลอย วงปี่ไฉน กลองชนะ วงเปิงพรวด  ภาคอีสาน เช่น
วงตุ้มโมง  ภาคใต้ เช่น วงกาหลอ วงปี่พาทย์ วงชาตรี วงสิละ 
2.4.7 วงเปิงพรวด
                 วงเปิงพรวด เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงเฉพาะงานพระศพของเจ้านายชั้นหม่อมราชวงศ์ขึ้นไป หรือบุคคลชั้นสูงที่พระราชทานวงเปิงพรวด มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บรรเลงในงานรดน้ำศพหรือพระราชทานเพลิงศพ นอกจากนี้ยังใช้รูปแบบของวงประโคมเพื่อใช้ในขบวนแห่พระบรมศพและพระศพเจ้านาย และนำขบวนพยุหยาตรา เครื่องดนตรีประกอบด้วย ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ ใช้สำหรับประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมงคือ ยาม 1 เวลา 06.00 น.
 ยาม 2 เวลา  09.00 น. ยาม 3 เวลา  12.00  น. ยาม 4 เวลา  15.00  น. ยาม 5 เวลา  18.00 น. ยาม 6 เวลา  21.00 น. ยาม 7 เวลา  24.00 น.
2.4.8 วงเทิ้งบ้อง,วงกลองยาว
          วงเทิ้งบ้อง หรือวงกลองยาว เป็นวงดนตรีที่นิยมเล่นกันในทั่วทุกภาคของ
ประเทศไทย ใช้สำหรับแห่ในงานรื่นเริงทั่วไป เช่น งานแห่ขบวนกฐิน ผ้าป่า แห่นาค หรืองานเทศกาลต่างๆ เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่ 1 เลา (อาจเป็นปี่ชวาหรือปี่ในท้องถิ่น) กลองยาวไม่จำกัดจำนวน ฆ้อง1 ใบ ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ชื่อเพลงที่ใช้บรรเลง


ชื่อเพลงที่ใช้บรรเลง
จากการสืบค้นข้อมูลในส่วนของชื่อที่ใช้เรียกเรียกในการบรรเลงดนตรีมังคละเภรีที่ใช้ในกลุ่ม 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างลุ่มน้ำยมและน่าน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น สามารถอนุมานได้ว่ามีการปะทะสังสรรค์กันทางวัฒนธรรม โดยหากสังเกตจากชื่อของแต่ละเพลงแล้ว พบว่าล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นที่มีดนตรีมังคละด้วยกันทั้งสิ้น ดังนี้
2.2.1.1 จังหวัดพิษณุโลกการเล่นดนตรีมังคละของจังหวัดพิษณุโลกนั้น แต่เดิมนั้นบรรเลงอย่างเดียว และใช้บรรเลงในเวลาแห่นาคเข้าวัด งานทอดผ้าป่า งานสงกรานต์ งานทอดกฐิน เป็นต้น เพลงที่บรรเลงชาวบ้านได้เป็นผู้คิดจังหวะและตั้งชื่อเองมีจำนวน 38 เพลง ดังนี้
                                1.  เพลงไม้หนึ่ง
                                2.  เพลงไม้สอง
                                3.  เพลงไม้สาม
                                4.  เพลงไม้สามกลับ
                                5.  เพลงไม้สามถอยหลัง
                                6.  เพลงไม้สี่
                                7.  เพลงกระทิงเดินดง
                                8.  เพลงกระทิงนอนปลัก
                                9.  เพลงกระทิงกินโป่ง
                                10. เพลงเก้งตกปลัก
                                11. เพลงข้ามรับ-ข้ามส่ง
                                12. เพลงข้าวต้มบูด
                                13. เพลงคางคกเข็ดเขี้ยว
                                14. เพลงคลื่นกระทบฝั่ง
                                15. เพลงคุดทะราดเหยียดกรวด
                                16. เพลงตกปลัก (อีเก้งตกปลัก)
                                17. เพลงตกตลิ่ง
                                18. เพลงตุ๊กแกตีนปุก
                                19. เพลงถอยหลังลงคลอง (ถอยหลังเข้าคลอง)
                                20. เพลงนมยานกระทกแป้ง
                                21. เพลงนารีชื่นชม
                                22.เพลงบัวโรย
                                23. เพลงบัวลอย
                                24. เพลงใบไม้ร่วง (ใบไผ่ร่วง)
                                25. เพลงปลักใหญ่
                                26. เพลงพญาเดิน
                                27. เพลงแพะชนกัน
                                28. เพลงแม่หม้ายนมยาน
                                29. เพลงรักซ้อน
                                30. เพลงรักแท้
                                31. เพลงรักเร่ (สาวน้อยประแป้ง, เพลงรำ)
                                32. เพลงรักลา
                                33. เพลงลมพัดชายเขา
                                34. เพลงเวียนเทียน
                                35. เพลงเวียนโบสถ์
                                36. เพลงสาลิกาลืมดง
                                37. เพลงสาวน้อยประแป้ง
                                38. เพลงหิ่งห้อยชมสวน
สำหรับเพลงมังคละที่มีการบันทึกเป็นโน้ต ซึ่งอาจารย์ครองศักดิ์ ภุมรินทร์เป็นผู้จดบันทึกไว้มีจำนวน  21 เพลง ดังนี้
                                1.      เพลงไม้หนึ่ง
                                2.      เพลงไม้สอง
                                3.      เพลงไม้สาม
                                4.      เพลงไม้สี่ (เพลงครู)
                                5.      เพลงบัวลอย
                                6.      เพลงถอยหลังลงคลอง (ถอยหลังเข้าคลอง)
                                7.      เพลงใบไม้ร่วง (ใบไผ่ร่วง)
                                8.      เพลงตกปลัก (อีเก้งตกปลัก)
                                9.      เพลงนมยานกระทกแป้ง
                                10.    เพลงตุ๊กแกตีนปุก
                                11.    เพลงคางคกเข็ดเขี้ยว
                                12.    เพลงแพะชนกัน
                                13.    เพลงคุดทะราดเหยียดกรวด
                                14.    เพลงข้าวต้มบูด
                                15.    เพลงกระทิงกินโป่ง
                                16.    เพลงพญาเดิน
                                17.    เพลงตีนตุ๊กจะ
                                18.    เพลงกวางเดินดง
                                19.    เพลงบัวโรย
                                20.    เพลงรักแท้
                                21.    เพลงรักเร่ (สาวน้อยประแป้ง, เพลงรำ)
                       2.2.1.2 จังหวัดสุโขทัย เพลงที่ใช้บรรเลงดนตรีมังคละของจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีเนื้อร้อง มีแต่การพาทย์ คือ การบอกว่าตอนนี้รำท่านี้ จะใช้เพลงทำนองนี้ โดยชื่อเพลงมังคละของอำเภอกงไกรลาศที่สามารถรวบรวมได้ มีดังนี้ (จิรวรรณ ศรีสกุล. 2549: 15)
                                1.   เพลงเชิญครู
                                2.   เพลงสองไม้
                                3.   เพลงสามไม้
                                4.   เพลงไอ้ค่างเข่นเขี้ยว
                                5.   เพลงใบปี่
                                6.   เพลงบายศรี
สำหรับชื่อเพลงที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย (2551:67-68) สามารถรวบรวมไว้ได้ มีดังนี้
1.         เพลงไม้หนึ่ง
2.         เพลงไม้สอง
3.         เพลงกบเข่นเขี้ยว
4.         เพลงแม่ม่ายกะทิกแป้ง
5.         เพลงตกปลัก
6.         เพลงกวางเดินดง
7.         เพลงคุดทะราดเหยียบกรวด
8.         เพลงไทรย้อย
9.         เพลงย่ำค่ำ- จูงนางเข้าห้อง
10.      เพลงกาจับหลัก
11.      เพลงหมูกัดแกนโคนบอน
12.      เพลงเข็นครกขึ้นเขา
13.      เพลงถอยหลังลงคลอง
14.      เพลงเวียนเทียน
15.      เพลงสาวน้อยปะแป้ง
16.      เพลงไผ่ร่วง
17.      เพลงลมพัดชายเขา
18.      เพลงนกกระเด้าดิน
19.      เพลงหงส์เหิร
นอกจากนี้วงมังคละของตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัยที่สามารถรวบรวมไว้ได้มีจำนวน 20 เพลง (www.bansuan.net :ออนไลน์.10 มกราคม 2553) ประกอบด้วย
1.       เพลงไม้หนึ่ง
2.       เพลงไม้สอง
3.       เพลงไม้สาม
4.       เพลงไม้สี่
5.       เพลงบัวลบ
6.       เพลงไทรย้อย
7.       เพลงตกปลักเล็ก
8.       เพลงตกปลักใหญ่
9.       เพลงถอยหลังลงคลอง
10.    เพลงพญาโศก
11.    เพลงลมพัดชายเขา
12.    เพลงย่ำค่ำ
13.    เพลงจูงนางเข้าห้อง
14.    เพลงกบเข่นเขี้ยว
15.    เพลงแม่หม้ายกระทบแป้ง
16.    เพลงสาวน้อยปะแป้ง
17.    เพลงอีกาจับหลัก
18.    เพลงเวียนเทียน
19.    เพลงพระฉันภัตตาหาร
20.    เพลงนางหงส์ (ใช้สำหรับแห่ศพ)  
                                2.2.1.3 จังหวัดอุตรดิตถ์ เพลงที่ใช้บรรเลงในวงมังคละเภรีของจังหวัดอุตรดิตถ์ใน
อตีตนั้น ไม่ได้มีการบันทึกไว้ทำให้ชื่อและจำนวนเพลงหายสาบสูญไป จากการสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่ กระทรวง สินหลักร้อย (สัมภาษณ์
22 พฤษภาคม 2553) หัวหน้าวงมังคละ หมู่ 3 บ้านกองโค อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ว่าเพลงที่ใช้เท่าที่จำได้ มีดังนี้
1.       เพลงไม้หนึ่ง
2.       เพลงไม้สอง
3.       เพลงไม้สี่
4.       เพลงกวางเดินดง
5.       เพลงสุขจริงๆ
                                เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อของเพลงที่ใช้บรรเลงส่วนใหญ่จะสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนในอดีตได้เป็นอย่างดี ทั้งทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ เช่น
           1) เพลงที่มีชื่อเรียกเป็นไม้ เช่น เพลงไม้หนึ่ง เพลงไม้สอง เพลงไม้สามรุดหน้า เพลงไม้สามถอยหลัง เพลงไม้หนึ่งไม้สาม เพลงไม้สามกลับและเพลงไม้สี่ เพลงต่างๆนี้เปรียบเสมือนเป็น       เพลงฝึกหัดในขั้นพื้นฐาน โดยเรียงลำดับตามความยากง่าย
           2) เพลงที่เกี่ยวกับความรัก เช่น เพลงรักซ้อน เพลงรักแท้ เพลงรักเร่ และเพลงรำ เพลงดังกล่าวเป็นเพลงที่มีกระสวนจังหวะค่อนข้างเรียบ ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน
           3) เพลงที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น เพลงคางคดเข็ดเขี้ยว เพลงแพะชนกัน เพลงกระทิงกินโป่ง เพลงกวางเดินดง เพลงตุ๊กแก เพลงปลักใหญ่ เพลงคลื่นกระทบฝั่ง และเพลงสาริกาลืมดง เพลงเหล่านี้ตั้งชื่อตามจินตนาการ จากการเลียนแบบธรรมชาติที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวันและนำมาคิดประดิษฐ์
           4) เพลงที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น เพลงข้าวต้มบูด เพลงแม่หม้ายนมยาน เพลงนมยานกระทกแป้ง เพลงเวียนเทียน เพลงเวียนโบสถ์ เพลงถอยหลังลงคลอง เพลงข้ามรับ-ข้ามส่ง เพลงครุดราดเหยียบกรวด เพลงสุขจริงๆ เพลงพญาเดิน และเพลงรำ โดยเพลงเหล่านี้เป็นการจินตนาการจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมในยุคนั้นๆ