วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

องค์ประกอบ


1.       ดนตรี
กลองยืนและกลองหลอน (กลองสองหน้า) อย่างละ 1 ใบ
                กลองยืนและกลองหลอน (กลองสองหน้าหรือกลองแขก)เป็นกลองขึงหนัง รูปร่างยาวเป็นท่อทรงกระบอกกลม (Cylindrical Drum) มีน้ำหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัมกลองยืนและกลองหลอนมีรูปทรงและขนาดใกล้เคียงกัน ความยาวประมาณ 26-28 นิ้ว หน้าข้างหนึ่งใหญ่เรียกว่า “หน้ารุ่ย” มีเส้นผ่าศูนย์กลาง9-10 นิ้ว หน้าข้างหนึ่งเล็กเรียกว่า “หน้ากว่าน” มีเส้นผ่าศูนย์กลาง7-8 นิ้ว กว้างประมาณ 17 เซนติเมตร  หุ่นกลองยาวประมาณ 57 เซนติเมตร  ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรือไม้แก่น เช่น ไม้ขนุน ไม้ชิงชัง หรือไม้มะริด ขึ้นหนังทั้ง 2 หน้าด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ  ใช้เส้นหวายผ่าซีกสายหนัง หรือเชือกไนล่อนขึงเป็นสายโยงให้ตึงเพื่อตีแล้วทำให้เกิดเสียง  สำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงมีขนาดเล็ก เรียกว่าตัวผู้  ลูกเสียงต่ำมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เรียกว่า ลูกตัวเมีย  ตีด้วยมือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดรับกันทั้งสองลูก  บ้างก็ใช้ไม้ตีข้างหนึ่งแล้วอีกข้างหนึ่งใช้มือตี
ฆ้องหรือโหม่ง 3 ใบ
           ฆ้อง เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับมโหระทึก ดังมีบันทึกอยู่ในเอกสารโบราณจำนวนมาก เช่นในโคลงเรือนขุนบรมตอนพญาแถนหลวงทำพิธี “ราชาภิเษก”ในขุนบรม
(หรือบูลม) เป็นกษัตริย์ มี “เครื่องกษัตรา”หลายชนิด ในจำนวนนั้นมีฆ้องอยู่ด้วย ดังโคลงตอนหนึ่งว่า “สะบัดไซฆ้อง ฮางวางเสียงคื่น-เสียงหน่วยฆ้อง ฮางวางเสียงคลื่น-เสียงหน่วยฆ้อง ปานฟ้าผ่าสุเมรุ” ต่อเมื่อขุนบรมแบ่งสมบัติให้ลูกชาย
7 คน ในพงศาวดารล้านช้าง ระบุว่าลูกคนโตคือขุนลอ ซึ่งจะเป็นกษัตริย์คนแรกของล้านช้าง (หลวงพระบาง) ก็ได้รับฆ้องจากขุนบรม ส่วนลูกชายคนรอง ๆ ลงไปไม่ได้รับฆ้องเลย
ในจารึกหินขอน (จังหวัดนครราชสีมา) ระบุว่ามีการถวายฆ้องสัมฤทธิ์ 3 ใบต่อทวยเทพ เพื่อเป็นเครื่องบูชา และจารึกในสมัยสุโขทัยกล่าวถึงการถวายฆ้องต่อพระพุทธเจ้า ฆ้องโลหะกับกลองไม้ต้องตีคู่กัน เช่นเดียวกับมโหระทึกตีคู่กับกลองไม้ดังมีร่องรอยอยู่ในเอกสารโบราณ เช่น ในมหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งฯ มีกระบุฆ้องกับกลองคู่กันเสมอ เช่น“มีฆ้องย่อมมีกลอง”และในหนังสือไตรภูมิพระร่วงก็จะระบุฆ้องกับกลองอยู่ใกล้เคียงเรียงกันไป เช่น “พื้นฆ้องกลองแตรสังข์” และ “เสียงพาทย์แลพิณ ฆ้องกลอง แตรสังข์...” เป็นต้น
โหม่งหรือฆ้องในวงมังคละมีทั้งหมด 3ใบโดยคัดเลือกให้มีขนาดและเสียงลดหลั่นกันออกไป  และใช้แขวนกับคานหาม โดยแขวนฆ้องใบเล็กไว้หน้าสุดเรียกว่า“ฆ้องหน้า” “ฆ้องกระแตะ” หรือ  “แหม่งหน้า” ใช้เป็นเครื่องดนตรีนำวงซึ่งจะตี 3 ครั้ง  ก่อนจึงจะเริ่มรัวกลองมังคละส่วนฆ้องอีก 2 ใบ  มีขนาดเท่ากัน  เรียกว่า “ฆ้องโหม่ง” หรือ “ฆ้องหลัง” แขวนไว้บนคานหามคู่กันคนละข้าง  ใช้ไมตีเพื่อให้จังหวะ คานหามที่ใช้แขวนฆ้องทั้ง 3 ใบ มีการประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ต่างๆหรือรูปฤๅษี นอกจากนี้ยังมีการลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม


ปี่ชวา 1 เลา
                เป็นเครื่องเป่าทำเป็น 2 ท่อน  ถอดออกจากกันได้  คือท่อนบนยาวเรียกว่า  เลาปี่ยาวราว 27 ซม. ท่อนล่างบานปลายเรียกว่า “ลำโพง” ยาวราว 14 ซม. เมื่อนำมาสวมเข้ากันจะมีรูปร่างเรียวบานปลายคล้ายดอกลำโพง  ยาวประมาณ 38-39 ซม. ทำด้วยไม้จริง หรืองา ตรงปากลำโพงบานประมาณ 7-8 ซม.ตอนบนที่ใส่ลิ้นบานออกเล็กน้อยยาวประมาณ 1ซม. เจาะรูนิ้วเดียวกันไปตามความยาว 7 รู และมีรูนิ้วค้ำข้างหลัง 1 รู อยู่ระหว่างรูที่ 1 และรูที่ 2 ของ 7 รูด้านหน้าเหนือรูที่ 1กลึงไม้ขวั้นเป็นลูกแก้วไว้เปลาะหนึ่ง  ลิ้นปี่ทำเป็นกำพวดปลายผูกลิ้นใบตาล  ตอนที่สอดใส่เลาปี่ เคียนด้วนเส้นด้าย  แต่เหนือเส้นด้ายที่เคียนนั้น เป็น “กระบังลม” แผ่นกลมๆบางๆด้วยโลหะหรือกะลา สำหรับรองริมฝีปากเพื่อเวลาเป่าจะได้ไม่เมื่อย ในวงดนตรีมังคละเภรีนั้น ปี่เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเดียวที่มีหน้าที่ดำเนินทำนอง

กลองมังคละ 1 ใบ
                เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกของวงมังคละเภรี มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป เช่น กลองอีลก โกร๊ก ต๊กโตร๊ก จ๊ดโกร๊ก  บังคละ ฯลฯ มีขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม  รูปร่างคล้ายครก หน้ากลองหุ้มด้วยหนัง เช่นหนังววัว หนังแพะ หนังควาย  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว  ยาวประมาณ 1 ฟุต ส่วนมากทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ขนุน หน้าตัดด้านหนึ่งอีกด้านหนึ่งเจาะรูมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ใช้หวาย 1 คู่ ยาวประมาณ 17 นิ้ว  ปลายหวายพันด้วยเชือกตีที่บริเวณหน้ากลอง การบรรเลงกลองมังคละใช้นักดนตรี 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้ถือกลองโดยจับตรงคอกลอง  อีกคนเป็นผู้ตี กลองมังคละเภรีมีส่วนประกอบสำคัญ ประกอบด้วย หน้ากลอง ไส้ละมาน เชือกละมาน เชือกเร่งเสียง นม เอวกลอง ลวดยึด หน้ากลอง ก้นกลอง และเท้ากลอง กลองมังคละ จัดอยู่ในกลองประเภทที่มีรูปร่างลักษณะเป็นท่อรูปถ้วยกลม มีก้านเป็นลำโพงเสียง (Goblet Drum) การผลิตเสียงเกิดจากการใช้ไม้หวายตีลงบนแผ่นหนัง
ฉาบเล็ก 1 คู่  ฉาบใหญ่ 1 คู่
                ทำด้วยโลหะรูปร่างคล้ายฉิ่งแต่หล่อบางกว่า  มีขนาดใหญ่กว้างและกว้างกว่าตอนกลางมีปุ้มกลม  ทำเป็นกระพุ้งขนาดวางลงบนอุ้งมือ 5 นิ้ว ขอบนอกแบบราบออกไปและเจาะรูตรงกลางร้อยเส้นเชือกสำหรับถือ  ตีกระทบให้เกิดเสียงที่ต้องการ “ฉาบ” ตีประกบ “แฉ่ง” ตีเปิดฉาบขนาดใหญ่เรียกว่าฉาบใหญ่
1.    การแต่งกาย
                                   การแต่งกายของการแสดงมังคละมีอยู่ 2 แบบ  คือ แต่งกายแบบที่ปรากฏอยู่ในอดีต  และแต่งกายแบบที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน  การแต่งกายที่ปรากฎในอดีตเป็นการแต่งกายธรรมดาตามชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่ผู้ชายสวมกางเกง  ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง  แต่การแต่งกายที่ปรากฏในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็นการแต่งกายของผู้แสดงชายและผู้แสดงหญิงดังนี้
การแต่งกายของผู้แสดงรำมังคละฝ่ายชาย
                นุ่งกระโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลม  มีผ้าขาวม้าพาดบ่าและคาดเอว
การแต่งกายรำมังคละของผู้แสดงฝ่ายหญิง
        นุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม  มีผ้าพาดไหล่หรือห่มสไบทับ
สำหรับการแต่งกายของนักดนตรีมังคละนั้น จะแต่งกายเหมือนกับผู้แสดงรำมังคละฝ่ายชาย คือ นุ่งกระโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลม  มีผ้าขาวม้าพาดบ่าและคาดเอว
3.โอกาสและเวลาที่ใช้ในการแสดง
                                 โอกาสที่ใช้ในการแสดงรำมังคละในอดีตนั้น มีปรากฏได้ตามงานบุญประเพณีและงานเทศกาลต่างๆ  เช่น  งานบวช  งานกฐิน  งานสงกรานต์ เป็นต้น  ปัจจุบันโอกาสที่ใช้ในการแสดงรำมังคละออกจากงานเทศกาลต่างๆแล้ว  ยังมีงานจากหน่วยราชการต่างๆที่ขอความร่วมมือมาเพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ดนตรีมังคละของท้องถิ่นไมให้สูญหายอีกด้วย
                เวลาที่ใช้ในการแสดงรำมังคละในอดีตไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการบรรเลงของวงมังคละที่ทางเจ้าภาพจ้างมาเล่นอาจใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาที  ขึ้นไปและอาจขึ้นอยู่กับระยะทางของขบวนแห่ด้วยแต่ปัจจุบันการแสดงรำมังคละมีวงดนตรีที่บรรเลงเพื่อการแสดงโดยเฉพาะโดยจะมีการกำหนดท่ารำและจังหวะการบรรเลงดนตรีอย่างลงตัว  ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 7-10 นาที
4.ลำดับขั้นตอนการแสดง
                                  การแสดงรำมังคละในอดีตจะมีการแสดงก็ต่อเมื่อวงมังคละเคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณงานและหยุดเพื่อบรรเลงอยู่บริเวณงานไม่มีลำดับขั้นตอนการแสดงเพราะเป็นการรำท่าทางหยอกล้อกันเพื่อความสนุกสนาน  เมื่อวงมังคละจบการบรรเลงผู้แสดงก็แยกย้ายกันกลับไปทำงานที่ได้ละทิ้งหน้าที่มา  การแสดงรำมังคละปัจจุบันมีลำดับขั้นตอนการแสดงโดยเริ่มจากนักดนตรีการโห่สามลา  แล้วเริ่มการบรรเลงดนตรี  ต่อจากนั้นผู้แสดงฝ่ายชายและผู้แสดงฝ่ายหญิงออกมาแสดงคู่กันแบ่งแยกกันไปด้านละ 1-2 คู่  ตามจำนวนผู้แสดงในแต่ละครั้ง  โดยจะปฎิบัติท่ารำไปเรื่อยๆ  รำเป็นคู่รำหยอกล้อกันไปมาระหว่างชายหญิง  สุดท้ายจบลงด้วยการตั้งแถวหน้ากระดาน 2 แถวผู้แสดงฝ่ายหญิงนั่งอยู่ด้านหน้า  ผู้แสดงฝ่ายชายยืนอยู่ด้านหลัง  พนมมือไหว้พร้อมกัน  จากนั้นผู้แสดงฝ่ายชายจะปรบมือไล่ต้อนผู้แสดงฝ่ายหญิงเข้าเวทีเป็นการจบการแสดงรำมังคละในรูปแบบปัจจุบัน
5.ลีลาท่ารำ
                                  ในอดีตวงมังคละใช้สำหรับการแห่และบรรเลงในพิธีกรรมต่างๆเท่านั้น ต่อมามีผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำประกอบการบรรเลงดนตรีมังคละขึ้นเพื่อใช้แสดงในโอกาสต่างๆ ท่ารำที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นนั้นจินตนาการจากทั้งท่าทางในวิถีชีวิตของชาวบ้านและการเลียนแบบอากัปกิริยาของสัตว์  ในปี พ.ศ. 2527 อาจารย์สมบัติ แก้วสุจริต ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ได้คิดประดิษฐ์ท่ารำประกอบดนตรีมังคละ โดยมีอาจารย์สำเนา จันทร์จรูญ ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์พื้นบ้านจังหวัดสุโขทัย และหัวหน้าคณะกลองยาวจันทร์ทรงกลด ตำบลวังลึก อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมปรับปรุงท่ารำให้มีความเหมาะสมกับการแสดงมากขึ้น โดยประยุกต์อากัปกิริยาของคนและสัตว์มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ เรียกว่า “รำมังคละ” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
                         สำหรับรำมังคละของจังหวัดสุโขทัยนั้น อาจารย์สำเนา  จันทร์จรูญ อาจารย์ใหญ่วัด
โพธาราม อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ได้จดจำท่ารำของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวสุโขทัยที่เล่นกันมาแต่โบราณ  แล้วนำมาร้อยเรียงท่ารำขึ้นใหม่ได้ 12 ท่า คือ
                                            1.  ท่าโยนกลอง (ตกปลัก)                2.  ท่ามอญชมดาว
                                            3.  ท่ากาสาวไส้                                   4.  ท่าช้างประสานงา
                                            5.  ท่ากวางเหลียวหลัง                       6.  ท่าลิงอุ้มแตง
                                            7.  ท่านางอาย                                      8.  ท่าแม่หม้ายทิ้งแป้ง
                                            9.  ท่าหงส์เหิร                                    10. ท่าผาลา
                                            11. ท่าจีบยาว                                       12. ท่าสอดสร้อยมาลา
ในปี พ.ศ. 2511 อาจารย์อนงค์ นาคสวัสดิ์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดวิชานาฏศิลป์ดนตรี วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ได้ริเริ่มประดิษฐ์ท่ารำประกอบท่วงทำนอง และลีลาของดนตรีมังคละ ในทำนองของการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวชาวบ้าน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสภาพสังคมในชนบทสมัยก่อน ที่คนหนุ่มสาวจะมีโอกาสมาพบประกันได้ที่วัด ในงานบุญและเทศกาลตรุษสงกรานต์ซึ่งเป็นระยะเวลาที่หนุ่มสาวมีอิสระได้เล่นสนุกสนานหลังจากไปทำบุญตักบาตร  สรงน้ำพระแล้ว ตอนเย็นมีการละเล่นมอญซ่อนผ้า  ลูกช่วง ตี่จับ ซ่อนหา เป็นต้น  ในโอกาสเช่นนี้หนุ่มสาวที่เล่นสนุกสนานกัน ย่อมมีการถูกตาถูกใจ และเกี้ยวพาราสีกันเป็นธรรมดา จึงได้คิดการแสดงท่ารำประกอบดนตรีมังคละขึ้น  และได้นำไปแสดงในงานแสดงสินค้านานาชาติ  ที่สนามกีฬาหัวหมาก  กรุงเทพฯ  เป็นครั้งแรกในปี  พ.ศ. 2511 (ทิพย์สุดา นัยทรัพย์และคนอื่นๆ.2539: 26-30)
                ท่ารำเริ่มด้วยฝ่ายหญิงจำนวนหนึ่งถือดอกไม้คนละช่อซึ่งสมมุติว่าเก็บมาจากป่า  จะนำไปไหว้พระ  เดินรำตามกันมาเป็นแถว  ฝ่ายชายจำนวนเท่ากันก็รำตามออกมาด้วยท่าขอดอกไม้ ทั้งหมดจะรำเข้าจังหวะกลองมังคละที่เร้าใจและสวยงาม  ฝ่ายหญิงไม่ยอมให้ดอกไม้แก่ชาย  เมื่อฝ่ายชายขอไม่ได้ก็แย่งดอกไม้ในมือของหญิงไปได้อย่างรวดเร็ว  ฝ่ายหญิงวิ่งตามไปขอคืน  ฝ่ายชายก็ไม่ให้และยังทำท่าหลอกล้อเย้าเหย่ออย่างสนุกสนาน
                เมื่อฝ่ายหญิงแย่งดอกไม้คืนมาไม่ได้  ก็รำเข้าวงปรึกษากันอยู่ด้านหนึ่ง  ฝ่ายชายก็รำเข้าวงแล้วลงนั่งรำหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษาหาวิธีเกี้ยวพาราสี  และขอความรักจากหญิงให้ได้  ในวงของฝ่ายชายนั้น  จะมีผู้หนึ่งที่คิดท่าเกี้ยวหญิงที่แยบยลได้  ก็ลุกทำท่าให้เพื่อนดูและสอนให้เพื่อนรำท่าอย่างตน  แล้วเพื่อนส่วนหนึ่งก็รำตามกันออกไปแถวเรียงหน้าเข้าไปหาหญิงแต่ละคนเป็นคู่ ๆ  ฝ่ายชายที่เหลืออยู่ในวงก็ตบมือหนุนพวกที่ออกไปเกี้ยวหญิงตามจังหวะเพลงมังคละท่ารำที่ อาจารย์อนงค์  นาคสวัสดิ์  คิดท่าขึ้นมี  4 ท่า ดังนี้
ท่ารำที่  1   ท่าเจ้าชู้ยักษ์  ฝ่ายชายที่มีผู้นำทำท่าเกี้ยวหญิง  วิธีแรกซึ่งแสดงถึงยุคโบราณที่มนุษย์ยังมีความเจริญทางสังคมน้อย  ผู้ชายอยากได้ความรักจากผู้หญิงก็ใช้วิธีจู่โจมเอาดื้อ ๆ  มีการปรบมือกระทืบเท้าแล้วโดดเข้าโอบกอดเลย    แต่ฝ่ายหญิงหลบรอดใต้วงแขนพ้นไปได้อย่างหวุดหวิดทุกคนจึงเป็นอันว่าการเกี้ยวผู้หญิงด้วยท่าเจ้าชู้ยักษ์ไม่สำเร็จจึงต้องรำกลับไปเข้าวงด้วยท่าที่แสดงความหมดหวัง  ท่านี้สอนให้รู้ว่า  ผู้หญิงนั้นไม่ชอบชายที่มุทะลุดุดัน  ตึงตัง  ฝ่ายชายต้อง  ปรึกษากันเพื่อหาท่าเกี้ยวใหม่
ท่ารำที่  2  ท่าเจ้าชู้ไก่แจ้  ชายอีกคนหนึ่งลุกขึ้นรำกลางวง  ชวนเพื่อนออกไปเกี้ยวใหม่ด้วยท่าเจ้าชู้ไก่แจ้  พอเข้าไปใกล้หญิงได้ระยะก็ทำท่าจับแก้ม  เชยคาง  กะลิ้มกระเหลี่ย  ฝ่ายหญิงก็ปิดป้องได้อย่างสวยงาม  แล้วผลที่สุด  ฝ่ายชายก็ต้องเดินรำคอตกไปเข้าวงของตนอย่างผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง  ฝ่ายหญิงทำท่าเย้ยไล่หลัง  าเจ้าชู้ไก่แจ้สอนให้ทราบว่าการทำท่ากรุ้มกริ่ม หลุกหลิกเกินไปหญิงก็ไม่ชอบ
ท่าที่  3  ท่าป้อ  ท่านี้เป็นท่ารำที่อ่อนช้อยของชายซึ่งมีผู้นำคนใหม่ชวนพรรคพวกออกมาเกี้ยว  อีกอย่างมั่นใจว่า  ความอ่อนน้อมรำป้อไปป้อมาด้วยท่าวิงวอนอ้อนว่านั้นจะเอาชนะใจผู้หญิงได้  แต่ฝ่ายหญิงก็ยิ่งทำเป็นลอยหน้าเชิดไม่สนใจแม้ว่าฝ่ายชายรำเตี้ยลง ๆ  จนถึงก้มศีรษะลงแทบเท้าหญิง  แต่ก็ไม่มีหวัง  วิธีนี้สอนให้รู้ว่า  ผู้หญิงไม่ชอบชายที่อ่อน  ให้ตนจนเกินไป  ฝ่ายชายจึงต้องกลับไปเข้าวงปรึกษากันใหม่อีกตามเคย  ผู้หญิงทำท่าดูถูก  ตามหลัง
ท่าที่  4  ท่าเมิน  ท่านี้เป็นท่าสุดท้ายที่ฝ่ายชายคิดขึ้นใหม่  คือทำท่าไม่สนใจหญิง  เมื่อพากันรำเข้ามาใกล้  ตัวฝ่ายหญิงแล้วก็ทำท่าหยิ่งไว้ตัว  ไม่ง้อ  ไม่สนใจ  แต่แอบยิ้มให้ลับหลัง  ฝ่ายหญิงเมื่อเห็นฝ่ายชายทำท่าไม่ง้อก็ชักเอะใจ  พยายามมองสบตา  ในที่สุดเมื่อฝ่ายชายออกเดินหนี  ผู้หญิงก็เป็นฝ่ายเดินตาม  ในที่สุดก็สมใจชายท่านี้สอนให้รู้ว่า ผู้หญิงชอบผู้ชายที่เป็นช้างเท้าหน้า  และสามารถคุ้มครองตนให้ปลอดภัยได้
6.รูปแบบการบรรเลง
                ในการบรรเลงกลองมังคละเภรีนั้น มีวิธีในการบรรเลงหลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของพิธีกรรมและความสะดวกในการบรรเลงของนักดนตรี เช่น
           1) การบรรเลงโดยใช้เท้าหนีบกลอง มักใช้บรรเลงในพิธีกรรมที่ใช้สำหรับการนั่งบรรเลง เช่น การบรรเลงซึ่งอยู่ในอาคารสถานที่ การบรรเลงที่นั่งอยู่ในยานพาหนะ หรือบรรเลงเพื่อโชว์ความสามารถของผู้บรรเลง โดยไม่ถือว่าผิดครูหรือเป็นการลบหลู่แต่ประการใด (เอ เพ็ชรี่. สัมภาษณ์ 2 มิถุนายน 2553)
                        2) การบรรเลงโดยใช้กลองแขวนไว้ด้านหลังของนักดนตรีคนใดคนหนึ่งหรือใช้อุปกรณ์เสริมแขวนไว้ที่ด้านหน้าของผู้เล่นเพื่อเป็นการสะดวกและประหยัดนักดนตรี (วันชัย บุญญา. สัมภาษณ์ 16 พฤษภาคม 2553) หรือในกรณีที่มีนักดนตรีน้อย การบรรเลงวิธีนี้ส่วนมากนิยมใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเดินแห่ด้วยเท้า เช่น แห่นาค แห่กฐิน-ผ้าป่า แห่งานสงกรานต์ ฯลฯ
           3) การบรรเลงโดยใช้คนถือ การบรรเลงวิธีนี้มักมุ่งเน้นความสวยงาม ซึ่งในบางครั้งผู้ถือกลองมักจะร่ายรำไปมาหยอกล้อกับผู้ตีกลองมังคละในลักษณะ ท่าทางต่างๆทำให้เกิดความสวยงามและสนุกสนาน การบรรเลงวิธีนี้มักใช้บรรเลงในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเดินแห่ หรือใช้สำหรับประกอบการแสดง
7.การประสมวงดนตรีมังคละเภรี
               เมื่อพิจารณาจากจดหมายเหตุเมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2444 ว่าวงมังคละเภรีในอดีตมีเครื่องดนตรีประกอบที่ปรากฏ ดังนี้
1. กลองมังคละ
2. กลองยืน
3. กลองหลอน
4. ปี่
5. ฆ้อง
สำหรับรูปแบบการประสมวงมังคละเภรีในปัจจุบัน ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้
1. ปี่
2. กลองมังคละ
3. กลองหลอน
4. กลองยืน
5. ฆ้อง
6. ฉาบเล็กหรือฉาบใหญ่
7. กรับ
8. ฉาบใหญ่หรือฉาบยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น